อังกฤษบนเส้นทางปราศจากอียู
การที่อังกฤษถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป
(European Union : EU) ได้ดำเนินไปอย่างเรียบร้อยสมบูรณ์
มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2021
โดยอังกฤษและอียูสามารถบรรลุข้อตกลงการค้าระหว่างกันได้สำเร็จทันเวลา
ในช่วงดึกของวัน Christmas
Eve ก่อนเส้นตายเพียง 7 วัน
โดยความหนาของข้อตกลงทางการค้าฉบับนี้มากกว่า 1,200 หน้า
เนื่องจากครอบคลุมเนื้อหาสาระมากมาย อาทิ การค้าสินค้าและบริการ การบิน
การขนส่งทางถนน ความร่วมมือด้านสาธารณสุข และ ความมั่นคงทางสังคม ฯลฯ
รวมถึงการระบุถึงการบังคับใช้กฎหมายและการระงับข้อพิพาทอีกด้วย
โดยหลักการแล้ว
อังกฤษได้ออกจากอียูตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม 2020
แต่เนื่องจากการเจรจาต่อรองเกี่ยวกับข้อตกลงทางการค้าระหว่างกันในขณะนั้นยังไม่แล้วเสร็จ
จึงทำให้ทั้งสองฝ่ายยืดระยะเวลา Brexit
ออกไปจนถึงสิ้นปี 2020
ซึ่งอังกฤษและอียูจะต้องเจรจาต่อรองกันให้เรียบร้อยก่อนเส้นตายสุดท้าย มิฉะนั้น
อังกฤษก็จะต้องแยกทางจากอียู โดยปราศจากข้อตกลงใดๆ ทั้งสิ้น
ซึ่งอาจทำให้อังกฤษเสียผลประโยชน์จากตลาดอียู
27 ประเทศ จำนวนประชากรราว 440 ล้านคน ขณะที่อียู
ที่ดูเหมือนว่าจะเสียเปรียบน้อยกว่า แต่ก็ย่อมเสียตลาดอังกฤษที่มีประชากรราว 66
ล้านคน และมีมูลค่าเศรษฐกิจประมาณ 2.85 ล้านล้านดอลลาร์
การเจรจาระหว่างสองฝ่ายทุลักทุเลมาโดยตลอด
จนแทบจะไม่มีความหวังว่าจะบรรลุข้อตกลงใดๆ แต่ในที่สุดนายกรัฐมนตรีอังกฤษ Boris Johnson ก็ยินยอมในประเด็นที่มีปัญหายืดเยื้อเกี่ยวกับด้านประมง
ซึ่งทางการอังกฤษยอมให้อียูเข้ามาทำประมงในน่านน้ำอังกฤษได้ชั่วคราวจนถึงปี 2026
ส่วนทางด้านอียู นาง Ursula
von der Leyen ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ก็ยอมถอยเช่นกัน
ในกรณีที่จะลงโทษตอบโต้อังกฤษทันที หากมีการปฏิบัติไม่เป็นธรรมกับอียูในด้านแรงงาน
สิ่งแวดล้อม และความช่วยเหลือจากรัฐ
ความสำเร็จในการเจรจาข้อตกลงทางการค้าครั้งนี้
จนนำไปสู่การก้าวออกจากอียูอย่างสมบูรณ์ ทำให้นายกรัฐมนตรี Johnson กล่าวว่า
อังกฤษได้เป็นอิสระที่จะทำการค้ากับประเทศต่างๆ ได้ทั่วโลก
และสามารถดึงดูดการลงทุนและนวัตกรรมใหม่ๆ มาสู่ประเทศได้อย่างรวดเร็ว
ไม่ต้องติดขัดเรื่องระเบียบข้อจำกัดใดๆ อีกต่อไป
ซึ่งจะทำให้อังกฤษบริหารจัดการด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน
รวมถึงความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกับประเทศต่างๆ อย่างว่องไว
ขณะเดียวกัน นาง von der
Leyen ได้กล่าวกับสื่อว่าประเทศสมาชิกอียู 27 ชาติ
ยังต้องเดินทางร่วมกันต่อไป เพราะอนาคตของพวกเราอยู่ในอียู
อังกฤษได้ใช้เวลาการเตรียมตัวแยกทางจากอียูเป็นเวลานานราว
4 ปี นับจากช่วงที่อังกฤษได้ทำประชามติออกจากอียู หรือ Brexit เมื่อกลางปี
2016 หลังจากนั้น ก็มีการเจรจาในรายละเอียดต่างๆ มากมายกับอียู ซึ่งกระบวนการยุ่งยากเหล่านี้
อียูคาดว่าน่าจะทำให้ประเทศสมาชิกอื่นๆ
ของอียูที่มีแนวคิดชาตินิยมและต้องการหย่าขาดจากอียู อาจต้องทบทวนความต้องการใหม่
เมื่อได้เห็นถึงขั้นตอน ความล่าช้า และผลกระทบทั้งเศรษฐกิจและการเมืองในประเทศ
ซึ่งอังกฤษเผชิญอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา
ข้อตกลงทางการค้า : จุดเริ่มต้นมหากาพย์
นักธุรกิจทั้งฝ่ายอังกฤษและอียู
ดูเหมือนพอใจที่การเจรจาประนีประนอมสำเร็จ ซึ่งมองว่าดีกว่าที่อังกฤษจะออกจากอียู
โดยไม่มีข้อตกลงใดๆ ซึ่งอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะสั้นอย่างมาก ทั้งนี้
ข้อตกลงทางการค้าจะช่วยให้ทั้งสองฝ่ายยังคงติดต่อค้าขายกันอย่างเสรีในระดับหนึ่ง
ในแง่การค้าสินค้า
ข้อตกลงระบุว่า จะไม่มีการเก็บภาษีและการกำหนดโควตา หมายความว่า การค้าขายสินค้า
อาทิ รถยนต์ สินค้าเกษตร ฯลฯ ก็ดำเนินอย่างปกติต่อไป
ยกเว้นประมงที่ทางฝ่ายอียูสามารถเข้ามาทำในน่านน้ำอังกฤษได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติ
ถึงแม้จะบอกว่าไม่มีการใช้อุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษีระหว่างกันอีก
แต่การที่สินค้าของทั้งสองฝ่ายจะต้องขนส่งไปมาระหว่างกัน
ต้องมีการตรวจเช็กเรื่องคุณภาพ อนามัย และถิ่นกำเนิด รวมถึงระเบียบใหม่ๆ
ที่อาจตามมาเพราะโรคระบาดโควิด-19
ย่อมทำให้กระบวนการค้าระหว่างกันมีต้นทุนเพิ่มขึ้น และถึงแม้ว่าในข้อตกลงฯ
จะมีการผ่อนผันในเรื่องเอกสารต่างๆ ที่ต้องใช้
แต่ในเชิงปฏิบัติส่วนใหญ่มักมีปัญหายุ่งเหยิง
และกลายเป็นอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี จนนำไปสู่การฟ้องร้องกันได้ในภายหลัง
ในแง่การค้าบริการ ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจของภาคธุรกิจอังกฤษ เนื่องจากภาคบริการคิดเป็นสัดส่วนราว 80% ของ GDP และคิดเป็นสัดส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของการส่งออกของอังกฤษ แต่ดูเหมือนอังกฤษจะไม่ค่อยเน้นในประเด็นเหล่านี้มากนัก อาจคิดว่าเป็นจุดแข็งของประเทศ ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่า ผลกระทบจาก Brexit ในแง่ภาคบริการมีไม่น้อย อาทิ บรรดาผู้บริหารหรือนักวิชาการมืออาชีพทั้งหลาย ที่จะเข้าไปทำงานในอียู จะต้องแสดงใบประกอบวิชาอาชีพอย่างถูกต้อง ซึ่งในอดีตไม่จำเป็นต้องหาเอกสารมายืนยันตัวตนมากมาย หรือ บริการด้านดิจิทัล การค้าผ่านออนไลน์ รวมถึงบริการไฮเทคอื่นๆ ที่อังกฤษมีมากมาย มักจะไม่รวมอยู่ในข้อตกลงฉบับนี้ ทำให้ต้องมีการเจรจากันอีก หากการทำธุรกิจระหว่างกันไม่ราบรื่น แม้แต่งานทางด้านกฎหมาย ซึ่งหากระบบศาลยุติธรรมอียู ไม่ยอมรับคำวินิจฉัยจากอังกฤษ ก็อาจทำให้นักกฎหมายอังกฤษ ต้องทบทวนอาชีพของตนในอียูอีกด้วย
ส่วนประเด็นภาคการเงินการธนาคาร
ปรากฏว่ามีการระบุรายละเอียดน้อยมาก
อาจเป็นเพราะทั้งสองฝ่ายต่างสงวนท่าทีระหว่างกัน โดยอังกฤษเชื่อว่า
ศูนย์กลางการเงินลอนดอนยังคงได้เปรียบในตลาดการเงินโลกต่อไป ส่วนฝ่ายอียู
ก็ไม่อยากวางข้อกำหนดอะไรมากมายในเบื้องต้น เพราะมีประเทศสมาชิกชั้นนำหลายชาติ
เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส เบลเยียม ฯลฯ
ล้วนต้องการช่วงชิงฐานะการเป็นศูนย์กลางการเงินโลกมาจากอังกฤษด้วยกันทั้งนั้น
แต่อย่างไรก็ตาม
ข้อตกลงฯ ได้กำหนดชัดเจนว่า
สิทธิพิเศษที่นักการเงินการธนาคารอังกฤษจะเช้าไปหาลูกค้าในตลาดอียูอย่างเสรี
ได้จบสิ้นลงแล้ว หรือที่เรียกว่า “financial
passporting for banks” ของอังกฤษ ไม่มีผลบังคับใช้ในอียู
หลังจากที่ออกจากอียูเรียบร้อย ทั้งนี้
ผู้เชี่ยวชาญทางการค้าชี้ว่าการค้าภาคบริการ
มีเนื้อหาสาระที่ผ่อนปรนระหว่างกันค่อนข้างน้อย ซึ่งอาจทำให้กลายเป็นอุปสรรคการค้าภาคบริการระหว่างกันอีกมาก
โดยเฉพาะในกรณีธุรกิจไฮเทคต่างๆ
เป็นที่น่าสังเกตว่า
สวิตเซอร์แลนด์
น่าจะเป็นตัวอย่างที่สะท้อนให้อังกฤษได้ตระหนักว่าการเจรจาการค้าภาคบริการกับอียู
อาจต้องดำเนินต่อไปอีกยาวไกล จะเห็นว่าสวิตเซอร์แลนด์ ได้ปฏิเสธที่จะเข้าเป็นสมาชิกอียูในต้นทศวรรษ
1990 แต่สวิตเซอร์แลนด์ ต้องการทำข้อตกลงทางการค้ากับอียู
ทำให้มีการเจรจาระหว่างกันทั้งด้านการค้าสินค้าและการค้าภาคบริการ
ซึ่งดำเนินเรื่อยมา ภาคการค้าสินค้าไม่ค่อยมีปัญหามากนัก
แต่ปรากฏว่า การค้าภาคบริการ โดยเฉพาะด้านการเงินการธนาคาร
ซึ่งเป็นจุดเด่นของสวิตเซอร์แลนด์ กลับต้องเผชิญการต่อรองมากมาย
และมีการกระทบกระทั่งจนถึงขั้นฟ้องร้อง
ทุกวันนี้ความร่วมมือทางการเงินการธนาคารระหว่างสวิตเซอร์แลนด์กับอียู
ก็ยังไม่ราบรื่นเท่าที่ควร ดังนั้น อังกฤษ ก็น่าจะเรียนรู้จากบทเรียนของสวิตเซอร์แลนด์ไว้เป็นฐานการต่อรองในภายหน้า
Global
Britain แค่เพียงสโลแกน?
รัฐบาลพรรคอนุรักษนิยมของนาย
Johnson ได้กล่าววลี
“Global Britain” หลังจากที่ผลประชามติของพลเมืองอังกฤษสนับสนุนการแยกตัวออกจากอียู
ส่งผลให้นักการเมืองและพลเมืองบางกลุ่มมองว่าอังกฤษจะได้กลับมายิ่งใหญ่ในเวทีโลกอีกครั้ง
เนื่องจากได้ปลดพันธนาการด้านกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ จากอียู
จะทำให้อังกฤษมีความเป็นอิสระทางด้านนโยบายต่างประเทศและนโยบายการป้องกันประเทศ
นักวิชาการมองว่าอังกฤษอาจพยายามระลึกภาพในอดีตที่เคยเป็นเจ้าอาณานิคมทั่วโลก และ
มีบทบาทเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศในระยะเวลานั้น
แม้แต่เงินปอนด์สเตอริง ก็ยังเป็นสกุลเงินสำคัญสุดอีกด้วย
แต่เมื่อสงครามโลกครั้งที่
2 จบลง สถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศก็เปลี่ยนแปลง
อังกฤษได้เข้าเป็นสมาชิกอียูในปี 1973 บทบาทในเวทีโลกแผ่วลงกว่าเดิม
เมื่อเทียบกับยุคก่อน เงินดอลลาร์สหรัฐกลายเป็นสกุลเงินอันดับ 1 ของโลก
แต่ถึงกระนั้น อังกฤษก็ยังวางฐานะของตนได้อย่างโดดเด่นในระดับหนึ่ง
โดยมีบทบาทเป็นสะพานเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับอียู
การที่อังกฤษก้าวออกจากอียูวันนี้ ได้ส่งผลให้หน้าที่ของประเทศที่ช่วยประสานความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับอียูเสื่อมคลายลง ดังนั้น อังกฤษจำเป็นต้องเพิ่มบทบาทและหน้าที่ในเวทีโลกในประเด็นอื่นๆ ให้ชัดเจนมากขึ้น หากต้องการชูความยิ่งใหญ่ของชาติอีกครั้งหนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่า การสำรวจความคิดเห็นของคนอังกฤษ เมื่อปีที่แล้ว พบว่า คนตอบแบบสอบถามราว 38% ระบุว่าอังกฤษ ไม่ควรหลอกตัวเองว่ายังเป็นชาติมหาอำนาจอีกต่อไป และหยุดผลักดันนโยบายที่สนับสนุนประเด็นเหล่านี้ เพราะจะเสียเวลา ควรหันไปดูประเทศเดนมาร์กน่าจะเหมาะสมและมีความสุข ขณะเดียวกัน คนอังกฤษอีกราว 28% ของผู้ตอบแบบสอบถาม กลับมองว่าอังกฤษยังสามารถคงความเป็นชาติมหาอำนาจได้ต่อไป
ความจริง
รัฐบาลได้พยายามวางแนวทางการก้าวสู่ Global Britain โดยได้มีการทบทวนนโยบายด้านต่างประเทศ
ด้านความมั่นคง ด้านการป้องกันประเทศ และการพัฒนา ซึ่งรวบรวมเป็นรายงานเรียกว่า “Integrated Review” ซึ่งควรมีการประชุมหารือกันในปีที่แล้ว
แต่ต้องเลื่อนออกไปเพราะสถานการณ์โควิด
มุมมองนักวิเคราะห์เห็นว่า
อังกฤษมีโอกาสแสดงบทบาทโดดเด่นในเวทีโลก เนื่องจากเป็นสมาชิกองค์กรสำคัญๆ มากมาย
เช่น NATO, G7, G20, The Common Wealth และมีที่นั่งถาวรในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ
อีกทั้งอังกฤษก็ยังมีศักยภาพทางอาวุธนิวเคลียร์และกองทัพ
รวมถึงยังมีอิทธิพลในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและยากจน
ผ่านทางการให้เงินช่วยเหลือระหว่างประเทศจำนวนมาก และความช่วยเหลือด้านสาธารณสุข
เนื่องจากอังกฤษถือว่าเป็นประเทศหนึ่งที่มีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์การแพทย์
ทั้งนี้ อังกฤษ
กำลังจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับสากลในปี 2021 ได้แก่ การประชุมกลุ่ม G7
และ การประชุมเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก COP26
ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสให้อังกฤษแสดงบทบาทเจ้าภาพและผู้นำในเวทีสำคัญเหล่านี้
ได้อย่างเฉียบคม
การที่อังกฤษได้ออกจากอียู
ได้ส่งผลให้การตัดสินใจดำเนินมาตรการด้านต่างประเทศคล่องตัว
และเป็นประโยชน์ต่อชาวอังกฤษและชาวโลกง่ายดายขึ้น อาทิ การคว่ำบาตรรัฐบาลเผด็จการ Belarus การอนุมัติวัคซีน
การทำสนธิสัญญาการค้ากับประเทศต่างๆ รวมถึงการแสดงบทบาทในกรณี Indo-Pacific เป็นต้น
แต่อย่างไรก็ตาม
การก้าวสู่ความยิ่งใหญ่และเป็นที่ยอมรับของประชาคมโลก ไม่ใช่เรื่องง่าย
สิ่งสำคัญที่สุดอันดับแรกก็คือ จะต้องสร้างความสำเร็จในประเทศตัวเองก่อน
ซึ่งวันนี้ รัฐบาล Johnson
กำลังเผชิญมรสุมอย่างหนักหน่วง
เนื่องจากโรคโควิด-19 ที่ระบาดในอังกฤษรุนแรง รวดเร็วและยืดเยื้อ
ทั้งๆที่อังกฤษสามารถผลิตวัคซีนและดำเนินการฉีดให้แก่พลเมืองอย่างต่อเนื่องแล้วก็ตาม
แต่แนวโน้มของการระบาดยังคงแพร่กระจายด้วยไวรัสสายพันธุ์ใหม่
สถานการณ์โควิดได้บั่นทอนภาพลักษณ์ความมีประสิทธิภาพของรัฐบาลลงอย่างมาก
นอกจากนี้
การบริหารจัดการเศรษฐกิจของอังกฤษอันเนื่องมาจากความบอบช้ำจากโควิด
ก็ย่ำแย่ที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกเป็นต้นมา ทั้งนี้
อังกฤษเคยนึกว่าประเทศอยู่ในกลุ่มชาติยุโรปตอนเหนือ
ที่มีขีดความสามารถในการบริหารจัดการเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดีกว่ากลุ่มชาติยุโรปตอนใต้
แต่มาตอนนี้ อังกฤษกลับมีสภาพเศรษฐกิจถดถอยเกือบที่สุด
โดยมีชาติสเปนยอมรั้งตำแหน่งบ๊วยให้ในกลุ่มยุโรปตะวันตก ในช่วงครึ่งปีแรก 2020
เศรษฐกิจอังกฤษติดลบราว -22% และคาดว่าตลอดปีที่แล้ว น่าจะติดลบ -11%
จากการพยากรณ์ของกูรูเอกชน
หากย้อนอดีต
คนอังกฤษยังคงชื่นชมความยิ่งใหญ่ของชาติในยุค นายกรัฐมนตรีหญิง Margaret Thatcher เนื่องจากเป็นผู้นำที่กล้าปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างเด็ดเดี่ยว
จนพ้นจากความเสื่อมโทรม และกลับมารุ่งเรืองต่อเนื่อง โดยเน้นนโยบายการค้าเสรี
การลดข้อจำกัดทางด้านการเงินการธนาคาร (Big Bang) การผ่าตัดตลาดแรงงานให้ยืดหยุ่นตามกลไกตลาด
อีกทั้ง นายกฯ Thatcher ยังชูบทบาทผู้นำทางทหารอย่างแข็งขัน
เมื่อต้องตัดสินใจในประเด็นความขัดแย้งระหว่างประเทศอีกด้วย
แม้ว่ารัฐบาลพรรคอนุรักษนิยมในช่วงต่อๆ
มา จะสานต่อนโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยม แต่การบริหารจัดการให้บรรลุเป้าหมายกลับหย่อนยานลง
นักเศรษฐศาสตร์แนะนำว่า รัฐบาล Johnson
ควรเร่งรัดช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิดอย่างเร่งด่วนให้มากที่สุด
แม้ว่ารัฐบาลจะทุ่มเงินไปแล้วเกือบ 400,000 ล้านดอลลาร์
แต่ความเสียหายในระบบเศรษฐกิจน่าจะต้องใช้เงินช่วยเหลือมากกว่านั้น
เพื่อผ่อนคลายความเดือดร้อนในระยะสั้น
ส่วนในระยะยาว
การฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาแข็งแกร่ง ควรที่รัฐบาลจะต้องวางเป้าหมายให้ชัดเจนว่า
ภาคธุรกิจไหนที่มีความสำคัญต่อการเติบโตของประเทศ
รวมถึงนโยบายการพัฒนาความเจริญของทุกส่วนของประเทศ
ก็ควรวางแผนให้เป็นรูปธรรมและปฏิบัติตามแผนที่วางไว้
ที่ผ่านมา
พรรครัฐบาล จะเอาใจกลุ่มผลประโยชน์ที่สนับสนุนพรรคเป็นสำคัญจนเกินไป
ซึ่งในกรณีพรรครัฐบาลก็คือ กลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งมีสัดส่วนสูง
จะคัดค้านนโยบายเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจยุคใหม่
ทำให้คนหนุ่มสาวซึ่งเป็นกำลังของชาติ ต้องเสียโอกาส หรือ โครงการสร้างถนนหนทาง
ก็มักจะถูกคัดค้าน เนื่องจากทำลายสภาพสิ่งแวดล้อมในเขตที่อยู่อาศัย
รวมถึงการจัดสรรงบประมาณเพื่อการศึกษา ก็จะมีสัดส่วนที่น้อยกว่าด้านสุขภาพอนามัย
เป็นต้น ประเด็นเหล่านี้
นักวิชาการมองว่ารัฐบาลจะต้องบริหารจัดการประเทศให้สมดุลมากขึ้น เพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคต
นอกจากการบริหารจัดการภายในประเทศเรื่องเศรษฐกิจให้เติบโตมั่นคง เป็นที่ยอมรับของชาวโลกแล้ว การที่จะก้าวสู่ Global Britain ก็ควรมีการเมืองภายในประเทศเรียบร้อยด้วย แต่ดูเหมือนอังกฤษ อาจต้องเผชิญความท้าทายทางการเมืองภายในประเทศในไม่ช้า ได้แก่ การขอแยกตัวเป็นอิสระของสกอตแลนด์ เนื่องจากชาวสก๊อตส่วนใหญ่อยากอยู่กับอียู รวมถึง ไอร์แลนด์เหนือ ซึ่งตอนนี้ หันไปสนิทสนมกับประเทศไอร์แลนด์มากขึ้น เป็นผลจากข้อตกลงทางการค้าฉบับใหม่ ซึ่งประเทศไอร์แลนด์ประกาศว่าจะคุ้มครองดูแลสิทธิต่างๆ ให้แก่ไอร์แลนด์เหนือเป็นอย่างดี ทำให้เกรงว่าความสัมพันธ์ของทั้งสองฝ่ายอาจพัฒนาเป็นการรวมประเทศกันอีกครั้ง (Irish Unification) ประเด็นเหล่านี้ ล้วนก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความไม่สงบทางการเมืองในอังกฤษ ดังนั้น ตราบใดที่อังกฤษยังไม่สามารถสร้างความน่าเชื่อถือทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองในประเทศ ให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาชาวโลกได้แล้ว เส้นทางสู่ Global Britain คงอีกยาวไกล